มุมมอง

‘Co-living’ ที่พักอาศัยที่สร้างนิยามใหม่ให้กับการอยู่ร่วมกัน

ที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ co-living เติบโตขึ้นอย่างมาก ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รูปแบบการอยู่อาศัยแบบนี้ถูกมองว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มองหาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับสังคมที่อยู่ร่วมกัน ความสะดวกสบาย และความคุ้มค่า 

กุมภาพันธ์ 02, 2567

Co-living หรือที่พักอาศัยให้เช่าร่วม เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในประเทศไทย ดังที่ทราบกันดีว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นตามไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ Co-living เป็นที่พักอาศัยให้เช่าประเภทหนึ่งที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ และสะท้อนให้เห็นเทรนด์ล่าสุดในตลาดที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ และการแสวงหาที่พักอาศัยทางเลือก รวมไปจนถึงการรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นของการอยู่อาศัย

คำถามที่พบบ่อยคือ Co-living ต่างอย่างไรจากที่พักอาศัยดั้งเดิม เช่น อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม หรือบ้าน คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ Co-living นำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้พักอาศัยได้ใช้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน ความเป็นชุมชน และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในหมู่ผู้พักอาศัย

ผู้ประกอบการ Co-living บางราย อาจเน้นจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่ม digital nomad (ผู้สามารถทำงานจากสถานที่ใดในโลกก็ได้ขอเพียงสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้) ผู้รับจ้างทำงานอิสระด้านครีเอทีฟ คนวัยหนุ่มสาวที่มีกิจการของตนเอง ผู้ที่มีทักษะทางวิชาชีพสูง หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพำนักในไทย แต่ที่สำคัญคือ Co-living จะมาพร้อมกันกับประโยชน์ของกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและความผูกพันในหมู่ผู้พักอาศัย

โดยทั่วไป Co-living มีที่พักให้บริการทั้งสำหรับระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น จึงอาจสามารถถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาคารพักอาศัยรวม (หมายรวมถึง อพาร์ตเม้นต์ให้เช่า และคอนโดมิเนียม) หรืออาจอยู่ในกลุ่มโรงแรมก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการพักอาศัย สำหรับประเทศไทย ตามกฎหมาย อาคารพักอาศัยรวมต่างๆ สามารถปล่อยเช่าเป็นรายเดือนเท่านั้น หากจะปล่อยเช่าน้อยกว่า 1 เดือน จะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม

ตลาด Co-living ในประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจะยังมีความเปลี่ยนแปลงในตลาดอีกมาก เห็นได้จากระดับภูมิภาค เช่น ฮ่องกง โตเกียว และ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองค่าครองชีพสูงที่มีตลาด Co-living ที่ใหญ่กว่าและมีลักษณะที่ต่างจากของประเทศไทย

ในประเทศไทย ธุรกิจ Co-living เพิ่งเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากการเข้ามาของผู้ประกอบการระหว่างประเทศสองราย ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต

ในปี 2565 แอสคอทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัว Lyf Sukhumvit 8 ที่กรุงเทพฯ โดยโครงการได้จัดสรรให้มีพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้พักอาศัยสามารถใช้เป็นที่ทำงานและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ รวมทั้งยังมีครัวส่วนกลางให้ใช้อีกด้วย โครงการตั้งอยู่ไม่ไกลจากสุขุมวิทซอย 11 ที่นับเป็นถนนสายผับบาร์ที่คึกคักมากที่สุดในย่านนานา ซึ่งทำให้โครงการได้รับประโยชน์จากความต้องการเข้าพักระยะสั้นจากนักท่องเที่ยว

เอเชีย แคปปิตอล เรียล เอสเตท (ACRE) เปิดตัว โครงการแรกที่ภูเก็ต ‘HOMA Phuket Town’ ในปี 2564 ตามมาด้วย ‘HOMA Si Racha’ ที่ชลบุรีในปี 2565 โดยโครงการที่ภูเก็ต ประกอบด้วยพื้นที่ co-working space ขนาดใหญ่ และห้องประชุมจำนวนมาก นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวก ทางทีมฝ่ายบริหารโครงการมีกิจกรรมการพูด/การบรรยาย และการแข่งขันฟุตบอล รายสัปดาห์ เพื่อสร้างความรู้สึกของการเป็นชุมชนสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนทำงานวัยหนุ่มสาวและ digital nomad

ในเดือนมกราคม 2567 ACRE เปิดให้บริการ HOMA Cherngtalay ในภูเก็ตอีก 423 ห้อง ตอบรับความต้องการของตลาดภายในเกาะภูเก็ต

ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ราคาที่ดินในกรุงเทพฯและปริมณฑลปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 6% ต่อปี ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยปรับตัวขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า คือเพียง 3% ต่อปี ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค ประกอบกับการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ Co-living ที่จะเข้ามาจับตลาดของคนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ค่าครองชีพไม่ได้เป็นแรงผลักดันหลักเพียงอย่างเดียวสำหรับการลงทุนในโครงการ Co-living ในประเทศไทย ผู้ประกอบการ Co-living นำประโยชน์จากการที่ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย มีวัฒนธรรมด้านอาหารการกินที่ได้รับความชื่นชอบ และการมีแหล่งชอปปิ้งมากมาย มาจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น digital nomad และนักเดินทางที่มาไทยเพื่อธุรกิจและท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน การให้ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ความสะดวกในการเข้าใช้บริการที่พัก และความคล่องตัวในการย้ายเข้า-ออก ยังเป็นปัจจัยบวกที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายชาวไทยที่เป็นคนทำงานวัยหนุ่มสาวอีกด้วย

ลูก้า ดอตติ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ HOMA กล่าวว่า “เราพบว่า คนรุ่นหนุ่มสาวมีแนวโน้มซื้อที่อยู่อาศัยน้อยลง และเชื่อว่าในอนาคตจะนิยมการเช่ามากขึ้น ทั้งนี้ Co-living เป็นเรื่องของการบริหารจัดการห้องพักกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น แนวคิดของที่พักแบบ Co-living ยังเปรียบเสมือนซอฟต์แวร์ที่ใช้บริหารจัดการประสบการณ์การพักอาศัยของผู้เช่า ตัวอย่างเช่นที่โครงการ HOMA Phuket Town เราจัดสรรพื้นที่ co-working space เนื่องจาก 40% ของผู้เช่าในโครงการเป็นผู้ที่ work from home เราได้สร้างสรรค์โปรแกรมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ให้กลุ่มผู้เช่า และพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับประสบการณ์พักอาศัยของผู้เช่า ธุรกิจของเราคือการมอบประสบการณ์การพักอาศัยที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ทั้งนี้ การทำให้ผู้พักอาศัยรู้สึกมากขึ้นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและมีโอกาสได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ คือสิ่งที่ทำให้เรายิ่งมีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการทำธุรกิจนี้”

สิ่งที่ Co-living ในประเทศไทยนำเสนอ มีแนวโน้มที่จะแตกต่างไปจากตลาดอื่นๆ โดยในด้านหนึ่ง จะเน้นการตอบโจทย์เกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูง ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง จะเน้นการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างด้านการพักอาศัยให้กับผู้เช่า ตามทำเลที่ตั้งของโครงการ และด้วยความที่ผู้เช่าต้องการความยืดหยุ่นในการพักอาศัยสูง Co-living เป็นที่พักอาศัยที่สามารถช่วยขจัดความยุ่งยากต่างๆ ที่ผู้เช่าต้องพบเจอ อาทิ การเช่าผ่านนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการตกแต่ง และค่าบำรุงรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุมในค่าเช่าแล้ว

รติมา เหลืองวัฒนากิจ เจ้าหน้าที่อาวุโส หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “จากการที่ Co-living รองรับได้ทั้งผู้เช่าระยะสั้นและระยะยาว จึงมีโอกาสที่จะเป็นที่ต้องการของทั้งนักท่องเที่ยว และคนทำงานวัยหนุ่มสาวที่มองหาที่พักอาศัยซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านความสมดุลของชีวิตการทำงาน ไลฟ์สไตล์ และสังคม”