การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาจล้มเหลวหากให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่าผู้คน

ภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้สมาร์ทซิตี้ตอบโจทย์ความต้องการของพลเมือง

มิถุนายน 27, 2562

แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (smart city) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ หากมุ่งเน้นเฉพาะกับการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยไม่มีการให้ความสำคัญมากพอเกี่ยวกับความต้องการและประสบการณ์ของผู้คน ตามรายงานการวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

รายงานฉบับดังกล่าวจากเจแอลแอล วิเคราะห์ว่า การที่ภาคอสังหาริมทรัพย์หันมาสนใจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกับการสร้างสรรค์อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนถึงสถานที่กินที่เที่ยวของผู้คน

ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ เจแอลแอลได้รวบรวมความคิดเห็นเชิงลึกจากผู้ทรงคุณวุฒิ 30 รายจากภาคเทคโนโลยี ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาครัฐบาล ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการขยายจำนวนของเมืองอัจฉริยะในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก โดยรายงานฉบับนี้ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการยึดความต้องการของผู้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความโปร่งใส

เจรามี เคลลีย์ ผู้อำนวยการดูแลฝ่ายวิจัยทั่วโลกของเจแอลแอล กล่าวว่า “เมืองหลายเมืองทั่วโลกมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดจากการเติบโตของเมือง เช่น การจราจร การกำจัดของเสีย และการดูแลรักษาความปลอดภัย  ซึ่งทั้งหมดนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะในเรื่องความเป็นอยู่และการทำงาน รวมไปจนถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากอาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก”

ความพยายามในการผลักดันโครงการสมาร์ทซิตี้

ไทยที่ตั้งเป้าจะมีเมืองอัจฉริยะ 60 เมืองใน 30 จังหวัดในระหว่างปี 2563-2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 เมืองทั่วประเทศภายในปี 2565 ในขณะที่จีนมีแผนที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะรวมมากกว่า 500 เมือง อินเดียตั้งเป้าที่จะพัฒนา 100 เมืองนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาไปจนถึงปี 2565 ส่วนสิงคโปร์มีความคืบหน้าไปมากเกี่ยวกับการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประเทศอัจฉริยะที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 และการประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียน-ออสเตรเลียนในปี 2561 เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกมีการประกาศแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรวมกว่า 1,000 โครงการ แต่พบว่ามีเพียง 15 โครงการเท่านั้นที่มีการประกาศกลยุทธ์ที่ครอบคลุมกว้างขวางรวมถึงการกำหนดเป้าหมายโดยละเอียด และในจำนวนนี้ มีเพียง 8 โครงการเท่านั้นที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างชัดเจน

รายงานของเจแอลแอลได้วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประเทศต่างๆ ประสบความล่าช้าในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และพบว่า ระบบราชการเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ ทั้งนี้ จากการที่เมืองหลายเมืองเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน การจะดำเนินนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จได้ ภาครัฐฯ จะต้องเปิดรับการทดลองสิ่งใหม่ๆ ยินดีลงทุนในเรื่องของเวลาและทรัพยากร พร้อมเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก

“ในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ควรเริ่มด้วยการลดการมุ่งเน้นเฉพาะการแสวงหาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการคำนึงถึงวิธีที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นช่วยให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้อย่างไร เราเชื่อว่า อสังหาริมทรัพย์จะสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้คนกับสาธารณูปโภคเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมของสังคมเมือง” นายเคลลีย์กล่าว

โดยทั่วไป อสังหาริมทรัพย์มักถูกมองว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวในด้านเทคโนโลยีช้ากว่าธุรกิจอื่นๆ แต่ในขณะนี้ กำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พร็อพเทค เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมาย ซึ่งพร็อพเทคเหล่านี้มีส่วนเสริมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้คนมีความสะดวกขึ้น ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดรวมไปจนถึงการช่วยเพิ่มความโปร่งใส และความสามารถในการ

ตัดสินใจใดๆที่เกี่ยวข้อง โดยรายงานของเจแอลแอลได้ระบุถึงบทบาทของพร็อพเทคในหลากหลายแง่มุม ตัวอย่างเช่น การเข้ามามีบทบาทนับตั้งแต่ขั้นตอนของการเริ่มก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงการบริหารจัดการหลังสร้างเสร็จ การช่วยเจ้าของเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาริมทรัพย์ และการช่วยให้ผู้เช่าใช้พื้นที่อสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวเมแกน วอลเตอร์ส ผู้อำนวยดูแลฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “รายงานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่ออนาคตของเมืองอัจฉริยะ และมีคำถามมากมายจากผู้พัฒนาโครงการหรือนักลงทุนเกี่ยวกับว่าจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ของตนในวันนี้ จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ซึ่งเราเชื่อว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ที่สร้างขึ้นจากการหลอมรวมเทคโนโลยีเข้ากับประสบการณ์มนุษย์ จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อให้มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้เช่าใช้พื้นที่ ในขณะเดียวกันจะสามารถช่วยให้เจ้าของหรือนักลงทุนสามารถลดต้นทุนการดำเนินการและได้รับผลตอบแทนดีขึ้น”

รายงานฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Smart Cities Success: Connecting people, proptech and real estate’ ได้รับการเรียบเรียงขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างเจแอลแอลกับชาลร์ส รีด แอนเดอร์สัน แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่งอย่าง เมืองอัจฉริยะ และพร็อพเทค ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานได้ฟรีที่ https://www.jll.co.th/en/newsroom/smart-cities-risk-curtailing-potential-by-prioritising-technology-over-people


เกี่ยวกับ JLL

JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และบริหารการลงทุน วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างจินตนาการใหม่ให้กับโลกแห่งอสังหาริมทรัพย์ สร้างโอกาสที่ดี และมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอสังหาริมทรัพย์อันน่าอัศจรรย์ให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถสานความใฝ่ฝันให้เป็นจริง ซึ่งตามวิสัยทัศน์ที่นี้ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า พนักงานและชุมชนของเรา JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทที่ที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีรายได้สูงสุดตามการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูน โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศและมีพนักงานทั่วโลกรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 91,000 คน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) JLL เป็นชื่อแบรนด์และเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ (Jones Lang LaSalle Incorporated) ต้องการข้อมูลเพิ่ม โปรดไปที่ jll.com