ข่าวสาร

พร็อพเทคขยายบทบาทในภาคอสังหา ฯ ของไทยเร็วขึ้น

การเปลี่ยนผ่านของภาคอสังหาริมทรัพย์สู่ยุคดิจิทัลจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นในระยะยาว

ตุลาคม 12, 2563

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีการใช้เทคโนโลยีในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือพร็อพเทค (proptech) เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยหลักๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวกสบาย และสร้างประสพการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้อสังหาริมทรัพย์ แต่การเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 ได้เร่งให้มีการพึ่งพาพร็อพเทคมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขอนามัย ทั้งนี้ แม้หลังสถานการณ์โรคระบาดสิ้นสุดลง เชื่อว่าการพัฒนาและใช้พร็อพเทคจะยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อไปอีก เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของภาคอสังหาริมทรัพย์สู่ยุคดิจิทัล ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

เด็กซ์เตอร์ นอร์วิลล์ หัวหน้าฝ่ายบริการบริหารอาคารและทรัพย์สิน เจแอลแอล กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทมีการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเน้นที่ระบบการทำงานอัตโนมัติต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้อาคาร จนเมื่อมาถึงปีนี้ พบว่า วิกฤติการณ์โควิดเป็นตัวเร่งที่ทำให้มีการพัฒนาและใช้พร็อพเทคอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการสัมผัสต่างๆ ในอาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า และอื่นๆ เพื่อสุขอนามัยทั้งของผู้ใช้อาคารและชุมชน”

เดอะปาร์ค โครงการมิกซ์ยูสซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างทีซีซี แอสเซ็ทส์และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ มีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยระบบแสง UVC นอกเหนือจากการติดตั้งหลอดแสง UVC ซึ่งส่งรังสีกำจัดแบคทีเรียและเชื้อรา ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่าง ๆ

เช่นเดียวกัน อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หนึ่งในบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยชั้นนำ ประกาศการใช้เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยด้วยระบบแสง UVC ซึ่งบริษัทระบุว่า สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 99.9% รวมถึงกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วย 

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และสยามพารากอน มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ โดยหุ่นยนต์ที่ใช้ที่สยามพารากอน ยังทำหน้าที่ตรวจตราและแจ้งเตือนผู้ที่ไม่สวมหน้ากากป้องกัน

แม้เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ที่เน้นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บางเทคโนโลยีอาจค่อยๆ ถูกทยอยเลิกใช้หลังวิกฤติการณ์โควิดสิ้นสุดลง ในขณะที่อีกหลายๆ เทคโนโลยีจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาว อย่างไรก็จากการที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เชื่อว่า พร็อพเทคจะยังคงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ขับเคลื่อนให้มีการจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ต่อไปในอนาคต

นายนอร์วิลล์กล่าวว่า “การปฏิบัติการและการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ กำลังเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งพร็อพเทคมีส่วนสำคัญในกระบวนนี้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย พร็อพเทคยังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลากหลายด้านที่มีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงและยกระดับมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว”

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) บิ๊กดาต้า และ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการช่วยเสริมสร้างความเป็นเลิศให้กับการปฏิบัติการของอาคาร ที่ต้องสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น สามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และความคล่องตัว

Command Center หรือศูนย์ควบคุมส่วนกลางเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้พร็อพเทคที่มีความซับซ้อนและครอบคลุม เพื่อยกระดับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้อาคาร โดยมีการใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่หลากหลายและเทคโนโลยีการสร้างข้อมูลแผนภาพด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจจับพฤติกรรมของผู้ใช้อาคารและแปลงเป็นข้อมูล จากนั้น ข้อมูลจะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อระบุถึงความต้องการของผู้ใช้อาคาร โดยอาศัยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อให้เจ้าของอาคารหรือผู้บริหารอาคารสามารถให้บริการหรือตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อาคารได้ตรงจุดมากขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังติดตั้ง command center คือ วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างขณะนี้ ด้วยพื้นที่อาคารรวม 1.8 ล้านตารางเมตร บนที่ดิน 104 ไร่ โดยทั้งโครงการจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง ประกอบด้วยระบบทำความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ระบบการจัดการน้ำและพลังงาน ควบคุมดูแลโดยศูนย์ข้อมูล (District Command Centre) และเซ็นเซอร์อัจฉริยะกว่า 250,000 ตัว เพื่อการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาเชิงรุก

อีกหนึ่งตัวอย่างของโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะล้ำสมัยรวมถึงบิ๊กดาต้าในการบริหารจัดการอาคาร คือโครงการมักกะสัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบในขณะนี้

ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่า ทั้งโครงการวัน แบงค็อก และโครงการมักกะสัน จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในวงการอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

"แม้การใช้พร็อพเทคในประเทศไทยจะเริ่มแพร่หลายมาไม่นานมากนัก แต่การพัฒนาและการใช้ประโยชน์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วขึ้นอย่างมากในขณะนี้ ทั้งนี้ การที่ผู้ใช้อาคาร-สถานที่เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ มีความคาดหวังที่สูงขึ้น ทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มมองหาจุดแข็งใหม่ ๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการ นอกเหนือจากจุดแข็งเดิมๆ ที่เน้นให้ความสำคัญกับทำเลเป็นหลัก ทั้งหมดนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตให้กับอสังหาริมทรัพย์ต่อไป" นายนอร์วิลล์กล่าว