ข่าวสาร

กลุ่มทุนในเอเชียหันมาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง

เจ้าของโรงแรมจำนวนมากอาจต้องมองหาวิธีที่สร้างสรรค์มากขึ้นในการแก้ปัญหาทางการเงินจากการที่โรงแรมไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ

พฤษภาคม 13, 2563

บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า เจ้าของโรงแรมทั่วเอเชียกำลังมองหาแหล่งเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังจากต้องเผชิญกับสถานการณ์ยอดผู้เข้าพักที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการปิดพรมแดน และสายการบินหยุดให้บริการ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับต้นทุนคงที่

นายอดัม บิวรีย์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุน และนายคอรีย์ ฮามาบาตะ ผู้ช่วยกรรมการอาวุโส หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล แสดงความเห็นร่วมกันว่า มาตรการห้ามประชาชนเดินทางบีบให้เจ้าของโรงแรมต้องมองหาทางเลือกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจการกู้ยืมในตลาดเนื่องจากตลาดการลงทุนยังคงมีเม็ดเงินเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

ในเอเชีย มีโรงแรมเพียงไม่กี่โรงที่ยังคงมีอัตราการเข้าพักในระดับที่น่าพึงพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่พักสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะการกักตัว หรือใช้เพื่อรองรับมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐฯ แต่กระนั้น ยังเป็นเรื่องยากที่จะสามารถมีรายได้ให้ถึงจุดคุ้มทุน หรือเพียงพอรองรับภาระหนี้ ทั้งนี้ โดยทั่วไป โรงแรมเป็นภาคธุรกิจที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นภาคธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นจนกว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมา

แม้เจ้าของโรงแรมบางรายจะมีการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว หรือเปิดให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องกักกันตัว แต่โดยส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ไม่เพียงพอกับต้นทุนและค่าใช้จ่าย จากการวิเคราะห์ของเจแอลแอล พบว่า ตลาดการกู้ยืมอาจชะงักเนื่องด้วยสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถอนุมัติการให้กู้ยืมในสถานการณ์วิกฤตการณ์นี้

นายบิวรีย์กล่าวว่า “จากการพูดคุยกับเจ้าของโรงแรมและสถาบันการเงินทั่วภูมิภาค เราพบว่า ทั้งสองฝ่ายมีความพยายามร่วมกันในการบรรเทาสถานการณ์เพื่อป้องกันการนำไปสู่สถานะของการผิดนัดชำระหนี้หรือสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้น เจ้าของโรงแรมหลายรายได้เร่งขอขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกิจและรับมือกับภาวะธุรกิจตกต่ำไปจนกว่าความต้องการจะฟื้นตัว โดยเจ้าของโรงแรมที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วงมากที่สุดคือกลุ่มที่อยู่ในหัวเมืองรีสอร์ทที่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุดหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง”

ในส่วนของภาคธนาคาร พบว่า เพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ยินดีที่จะพิจารณาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะขยายวงเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหา

ขณะนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาว่า ภาคธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวเมื่อใด ดังนั้น การผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ระยะสั้นจึงอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เจ้าของโรงแรมหลายรายสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ในขณะนี้ไปได้ และอาจต้องอาศัยเงินทุนเข้ามาเสริม

นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุน หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า “ในกรณีของประเทศไทย คาดว่า เจ้าของโรงแรมจะให้ความสนใจการกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางการเงิน เพื่อให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ ทั้งนี้ หัวเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ของไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก โดยในสถานการณ์ปกติ โรงแรมในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ตและเกาะสมุย จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าใช้บริการห้องพักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-85%”

โรงแรมไม่ได้เป็นภาคธุรกิจเดียวที่มีความต้องการเงินกู้มากขึ้น ยังมีภาคธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคธุรกิจ ในขณะที่สถาบันการเงินโดยทั่วไปใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจที่มีความผันผวนสูง

แม้ในปีที่ผ่านมา ตลาดโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกจะมีการซื้อขายมูลค่าสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังมีเงินทุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงหาโอกาสการลงทุนซื้อกิจการโรงแรมที่มีคุณภาพดีซึ่งจะช่วยพยุงมูลค่าราคาของโรงแรมไว้ได้ในระยะปานกลาง

เจแอลแอลเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้สร้างโอกาสให้กับผู้ให้กู้ประเภทอื่น ๆ ที่เล็งการณ์ไกลกว่าช่วงเวลานี้ที่โรงแรมมีปัญหาสภาพคล่อง และตัดสินอนุมัติการให้กู้ยืมโดยพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สินซึ่งมีความมั่นคงในระยะยาว และมูลค่าของหลักประกันอื่น ๆ ของผู้กู้

“จากการที่ภาคธุรกิจโรงแรมกำลังต้องการเงินทุนจำนวนมาก พบว่า มีนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาด และสำนักงานครอบครัว (family office องค์กรที่รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว) ขยายตัวเข้ามาในธุรกิจการให้สินเชื่อ ช่วยเสริมแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมอยู่ก่อนแล้ว แม้แหล่งเงินทุนใหม่นี้โดยทั่วไปจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า แต่จุดแข็งคือการมีความรวดเร็วกว่าในการตัดสินใจและมีความคล่องตัวมากกว่า จึงสามารถให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับเจ้าของโรงแรมได้ จนกว่าเจ้าของโรงแรมจะสามารถมีทางออกสำหรับการแก้ปัญหาทางการเงินระยะยาวได้ หรือจนกว่าจะมีโอกาสขายโรงแรมในราคาที่สมเหตุสมผลมากกว่าที่จะตัดขายออกไปในเวลานี้” นายฮามาบาตะกล่าว

เจแอลแอลคาดว่า ตลาดรีสอร์ทในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมไปจนถึงมัลดิฟส์ จะมีความต้องการเงินกู้สูง ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมบางรายในประเทศเหล่านี้กำลังประสบปัญหาจากการไม่สามารถกู้ยืมเงินจากภาคธนาคาร อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง และการพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นตลาดที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุดหลังสิ้นสุดวิกฤติการณ์โควิด-19

“คาดว่าเจ้าของโรงแรมที่มีสถานภาพทางการเงินที่ยังเข้มแข็งจะสามารถร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ในการหาทางออกร่วมกันได้ แต่คาดว่าตลาดโรงแรมของบางประเทศจะมีความจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น ในกรณีที่หาแหล่งเงินทุนไม่ได้มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจต้องนำโรงแรมออกเสนอขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เจแอลแอลเชื่อว่าหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 จะเห็นโรงแรมเปิดใหม่น้อยลงเนื่องจากเจ้าของโรงแรมต้องการที่จะพัฒนาสถานะทางการเงินของตนเองให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานของภาคธุรกิจโรงแรมแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมในอนาคต” นายบิวรีย์กล่าว


เกี่ยวกับ JLL

JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และบริหารการลงทุน วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างจินตนาการใหม่ให้กับโลกแห่งอสังหาริมทรัพย์ สร้างโอกาสที่ดี และมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอสังหาริมทรัพย์อันน่าอัศจรรย์ให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถสานความใฝ่ฝันให้เป็นจริง ซึ่งตามวิสัยทัศน์ที่นี้ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า พนักงานและชุมชนของเรา JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทที่ที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีรายได้สูงสุดตามการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูน โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศและมีพนักงานทั่วโลกรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 91,000 คน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) JLL เป็นชื่อแบรนด์และเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ (Jones Lang LaSalle Incorporated) ต้องการข้อมูลเพิ่ม โปรดไปที่ jll.com