ข่าวสาร

นักลงทุน-ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์คิดใหม่เกี่ยวกับคุณค่าของอาคารเขียว

การให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนและสุขภาวะของผู้ใช้อาคาร คือหนึ่งในนิยามของอาคารที่ดีที่สุด

มกราคม 27, 2565

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาคารใหม่ๆ ถูกตั้งความคาดหวังสูงมากขึ้น ไม่เฉพาะในเรื่องของความสะดวกสบาย แต่รวมถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ บริษัทผู้เช่าใช้พื้นที่อาคารสำนักงานให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเลือกอาคารที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลให้นักลงทุนและเจ้าของอาคารต้องหันมาทบทวนคุณค่าของการเป็นอาคารเขียว เพื่อลดความเสี่ยงที่อาคารของตนจะเสื่อมมูลค่า ซึ่งมีโอกาสสูงกว่าที่เคยเป็นมา

รายงานฉบับใหม่เผยผลการวิเคราะห์โดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล โดยได้เน้นย้ำความเร่งด่วนที่นักลงทุนหรือเจ้าของอาคารจะต้องก้าวให้ไกลกว่าเพียงแค่การถกถึงคุณค่าของการเป็นอาคารเขียว แต่ต้องมองถึงผลตอบแทนระยะยาวของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กาย เกรนเจอร์ ผู้อำนวยการดูแลทั่วโลก หน่วยธุรกิจบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเจแอลแอล กล่าวว่า “มาตรฐานที่ใช้วัดคุณสมบัติของการเป็นอาคารเขียวมีหลักเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไม่อาจปฏิเสธได้”

มีแรงจูงใจสูงด้านการเงินที่ให้เจ้าของอาคารพัฒนาอาคารเขียว

ในอดีต นักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการเคยสงสัยเกี่ยวคุณค่าของการรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ LEED และ BREEAM แต่ปัจจุบัน มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดเจนว่า อาคารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว มีพรีเมียมของค่าเช่าสูงกว่าอาคารที่ไม่ได้รับการรับรองเฉลี่ยราว 6% และพรีเมียมของราคาขายเฉลี่ยราว 7.6%

อย่างไรก็ดี แม้ค่าพรีเมียมที่ได้จากการเป็นอาคารเขียวจะเป็นตัวเลขที่สูง แต่ยังมีมิติอื่นอีกที่ไม่อาจมองข้าม โดยผลการศึกษาวิจัยของเจแอลแอล เผยให้เห็นว่า อาคารที่ไม่ได้มีการพัฒนาหรือปรับปรุงให้ได้มาตรฐานด้านความยั่งยืนจะมีปัญหาในการสร้างรายได้ และนำไปสู่การเสื่อมมูลค่า

คำนิยามของอาคารเขียวกำลังเปลี่ยนไป

การระบุคุณค่าของอาคารเขียว มีแง่มุมใหม่ๆ ให้พิจารณาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดรวมจนถึงสุขพลานามัยของผู้ใช้อาคารสถานที่ ซึ่งล้วนกลายเป็นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงในการให้นิยามของคำว่า ดีที่สุด สำหรับอาคารสถานที่

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เจแอลแอลได้สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างเกือบ 1,000 คน ประกอบด้วยผู้บริหาร นักลงทุน/ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และตัวแทนของบริษัท/องค์กรผู้เช่าใช้พื้นที่สำนักงานหรือสถานประกอบการ ผลการสำรวจเผยให้เห็นว่า

  • 83% ของผู้เช่าใช้พื้นที่สำนักงาน และ 78% ของนักลงทุน/ผู้ประกอบการ เชื่อว่า ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงิน
  • 79% ของผู้เช่าใช้พื้นที่สำนักงานคาดว่า องค์กรของตนจะบรรจุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ในกลยุทธ์ด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2025
  • 42% ของผู้เช่าใช้พื้นที่สำนักงานเชื่อว่า พนักงานของตนจะเรียกร้องมากขึ้นเพื่อให้ได้มีสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขพลานามัย
หลักเกณฑ์ของสถาบันหรือองค์กรในการให้การรับรองมาตรฐานด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลานามัยของผู้คน จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน อาคารที่ได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานสูงด้านการเป็นอาคารเขียว อาจไม่ได้เป็นอาคารปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำที่สุดก็ได้ เกณฑ์การรับรองมาตรฐานจะเปลี่ยนแปลงไป ดังสะท้อนให้เห็นได้จากการที่ระบบรับรองมาตรฐานของ LEED, BREEAM และอื่นๆ ได้เริ่มใช่บรรทัดฐานใหม่ด้านการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้คำนิยามสำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มองค์ประกอบอื่นๆ ในการคำนวณปริมาณ

ในขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุน และบริษัทผู้เช่าใช้พื้นที่สถานประกอบการแสดงความมุ่งมั่นในการทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กลุ่มต่างๆ เหล่านี้จะมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในการพิจารณาทบทวนอาคารหรือสถานที่ทำการของตน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทั่วโลกจะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2030 และเหลือ 0 ภายในปี ค.ศ. 2050

รายงานการศึกษาฉบับนี้ของเจแอลแอล ได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนา ออกแบบ ก่อสร้างและดูแลอาคาร-สิ่งปลูกสร้าง หลีกเลี่ยงการปล่อยให้อาคารหมดสภาพ และพยายามผลักดันให้มีการพัฒนาอาคาร-สถานที่ที่เป็นมิตรต่อสังคม/สิ่งแวดล้อม มีความยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และดีต่อพลานามัยของผู้คน แม้ขณะนี้ อาจยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอหรือกรณีศึกษาที่สมบูรณ์แบบก็ตาม


เกี่ยวกับ JLL

JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: JLL) เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ JLL มีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของอสังหาริมทรัพย์เพื่อโลกที่ดีกว่า ด้วยการสรรค์สร้างโอกาสที่ดี อสังหาริมทรัพย์ที่ยอดเยี่ยม และช่องทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสำหรับลูกค้าและพนักงานของบริษัท ตลอดรวมจนถึงชุมชน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทชั้นนำที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์จูน (Fortune 500) ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศ และมีพนักงานทั่วโลก ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 รวมกว่า 95,000 คน ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ทั่วโลกคิดเป็นยอดรวมทั้งสิ้นกว่า 16,600 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ JLL เป็นเครื่องหมายการค้าของ Jones Lang LaSalle Incorporated สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่ jll.com