อีคอมเมอร์ส หนุนอสังหาฯ กลุ่มโลจิสติกส์เติบโต
โกดัง/ศูนย์กระจายสินค้า มีแนวโน้มกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อปล่อยเช่า
กรุงเทพฯ 5 กันยายน 2561 - การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมอร์ส ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์ ได้แก่ โกดังและศูนย์กระจายสินค้า กลายเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงอาเซียนและประเทศไทย โดยมีแนวโน้มว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทบริการรับส่งสินค้าและบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่จำเป็นต้องใช้โกดังและศูนย์กระจายสินค้า จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์มากขึ้นเพื่อรองรับ ในอนาคต ยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่า จะมีนักลงทุนสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์เพื่อปล่อยเช่า ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ JLL (เจแอลแอล)
ในประเทศไทย ความต้องการอสังหาริมทรัพย์กลุ่มโลจิสติกส์มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมอร์ส โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 1.9% ของมูลค่าการซื้อขายสินค้าที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 1% นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2568 ปริมาณการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ในไทยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 5.5% ของมูลค่าการซื้อขายสินค้าทั้งหมด คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มเฉลี่ย 29% ต่อปี
ข้อมูลที่เปิดเผยโดยดับบลิวเอชเอ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์รายใหญ่ที่สุดของไทย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กลุ่มผู้ให้บริการ 3PL (Third Party Logistics) หรือบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในทุกกิจกรรม (ตัวอย่างเช่น ดีเอชแอล และเคอรี่ โลจิสติคส์) ซึ่งให้บริการอำนวยความสะดวกในการจัดส่งสินค้าที่มีการซื้อขายทางออนไลน์ไปถึงผู้ซื้อที่เป็นบุคคลทั่วไปหรือองค์กรบริษัท มีความต้องการใช้โกดังสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในขณะเดียวกัน พบว่า บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์เอง อาทิ ลาซาด้า (Lazada) และ ช้อปปี้ (Shopee) เริ่มมีการเช่าโกดัง/ศูนย์จัดกระจายสินค้าในนิคมโลจิสติกส์ไว้เป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน
นายทรัพย์ยากร แสนสุขทวีทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายบริการอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ เจแอลแอล กล่าวว่า "นอกจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมอร์ส นโยบายของภาครัฐฯ และการลงทุนต่างๆ เพื่อผลักดันการสร้างเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขยายตัวเร็วขึ้น จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้ความต้องการใช้อสังหาริมทรัพย์กลุ่มโลจิสติกส์เติบโตในอนาคต โดยเชื่อว่า ทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะได้รับประโยชน์ ในขณะเดียวกัน เริ่มมีนักลงทุนแสดงความสนใจอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้น ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของไทคอน โดยเฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ บริษัทร่วมทุนระหว่างทีซีซี แอสเซ็ทส์ และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูต่อไปว่า จะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่จะสามารถแทรกตัวเข้ามาในตลาดที่ครองไว้อย่างเหนียวแน่นโดยผู้เล่นรายปัจจุบันได้หรือไม่ ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอและไทคอน รวมถึงกองทุนและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของทั้งสองบริษัท มีอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมาก 70% ของซัพพลายทั้งหมดในตลาด
"ในอนาคต เชื่อว่า โกดังหรือศูนย์กระจายสินค้า จะเป็นอสังหาริมทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่มีนักลงทุนสนใจซื้อเพื่อปล่อยเช่า เนื่องจากบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์มีความต้องการเช่าพื้นที่โกดังสินค้า/ศูนย์กระจายสินค้ามากขึ้น ซึ่งบริษัทต่างๆ เหล่านี้ มีการลงทุนสูงในการวางระบบบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโกดังหรือศูนย์กระจายสินค้าที่ตนเช่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำสัญญาเช่าระยะยาวเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าการลงทุน หมายความว่าผู้ให้เช่าสามารถมีรายได้สม่ำเสมอเช่นเดียวกับการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจประเภทอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน หรือศูนย์การค้า" นายทรัพย์ยากรกล่าว
เกี่ยวกับ JLL
เจแอลแอลเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก มีสำนักงานสาขา 300 แห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย เจแอลแอลเริ่มดำเนินธุรกิจมานับตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ด้วยพนักงานมากกว่า 1,600 คน และมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ เจแอลแอลยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมอันดับหนึ่งของประเทศไทยติดต่อกันเจ็ดปีซ้อน ในการสำรวจความคิดเห็นของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ประจำปี 2560 โดยนิตยสารยูโรมันนี (Euromoney Real Estate Survey 2017)