ข่าวสาร

หลังโควิด กลุ่มผู้เช่ายังคงปรับกลยุทธ์ด้านสถานที่งาน

อาคารที่มีคุณภาพจะมีดีมานด์รองรับสูง

ตุลาคม 12, 2565

หลังวิกฤติการณ์โควิดคลี่คลาย บริษัทต่างๆ กำลังพิจารณาทบทวนออฟฟิศของตน รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆ ที่จะจูงใจให้พนักงานกลับมาเข้ามาทำงาน หลายบริษัทปรับขนาดออฟฟิศให้เล็กลงโดยใช้พื้นที่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น ในขณะที่มีบริษัทอีกจำนวนมากที่อัพเกรดออฟฟิศของตน และลงทุนมากขึ้นในการสร้างออฟฟิศให้รองรับวิถีใหม่ของการทำงาน การมีสุขภาวะที่ดีของพนักงาน และเป้าหมายของบริษัทในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคม ทั้งหมดนี้ คือแนวโน้มสำคัญที่กำลังขยายตัวในตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ ตามการวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

ไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า “การเปลี่ยนไปใช้นโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่ออฟฟิศสลับกับการทำงานจากที่บ้านหรือสถานที่อื่น เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับสถานที่ทำงาน วิถีใหม่ของการทำงานที่เน้นการให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงาน ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ออฟฟิศขนาดเท่ากับที่เคยใช้ในช่วงก่อนเกิดโควิด อย่างไรก็ดี เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า บริษัทต่างๆ จะยังคงจำเป็นต้องมีออฟฟิศ ซึ่งจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นสถานที่ที่พนักงานสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการยึดถือค่านิยมองค์กร สร้างเสริมกำลังใจ เพิ่มประสิทธิผลการทำงาน และเติบโตอย่างยั่งยืน”

ผลการสำรวจความคิดเห็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีชื่อว่า Future of Work Survey ของเจแอลแอล เผยให้เห็นว่า 72% ของตัวแทนที่ดูแลด้านสถานประกอบการของบริษัทต่างๆ ที่ร่วมทำแบบสำรวจครั้งนี้ เชื่อว่า ออฟฟิศจะยังคงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การสำรวจดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่า บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการหาวิธีที่จะทำให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดี รักษาระดับประสิทธิผล ควบคู่ไปกับการใช้ออฟฟิศเป็นศูนย์กลางของระบบนิเวศน์ของการทำงาน

74% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า องค์กรของตนมีแนวโน้มที่จ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้นสำหรับการมีออฟฟิศในอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียว โดยในกรณีของกรุงเทพฯ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน เจแอลแอลพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของธุรกรรมการเช่าออฟฟิศที่เกิดขึ้นใหม่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ เป็นการเช่าพื้นที่ในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว

นอกจากนี้ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า 80% ของบริษัทต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับพื้นที่เช่าที่มีคุณภาพสูง เนื่องจากสามารถรองรับสถานที่ทำงานที่ต้องการได้ดีกว่า เอื้อให้พนักงานเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี รวมไปจนถึงการทำให้องค์กรมีโอกาสในการได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่ายยิ่งขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นกับความต้องการในการเช่า-ใช้พื้นที่สำนักงาน
บริษัทปรับขนาดออฟฟิศให้เหมาะสม

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โรคระบาด มีบริษัทจำนวนมากที่พยายามประเมินว่า ควรใช้พื้นที่ออฟฟิศขนาดเท่าใดที่จะเหมาะสมกับธุรกิจของตน โดยในหลายๆ กรณี เป็นการตัดสินใจลดขนาดพื้นที่ลง ทั้งนี้ เหตุผลที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับการปรับขนาดของออฟฟิศ คือการลดต้นทุนด้านสถานประกอบการลงให้ได้มากที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์สำหรับวิถีใหม่ของการทำงาน

นายธนานันต์ เรืองวีรวิชญ์ หัวหน้าแผนกบริการตัวแทนเช่า/ให้เช่าพื้นที่สำนักงาน เจแอลแอล กล่าวว่า “ในทศวรรษก่อนหน้านี้ บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราความหนาแน่นเฉลี่ยที่เหมาะสำหรับออฟฟิศ คือ พื้นที่ 10 ตารางเมตรต่อพนักงาน 1 คน แต่ในปัจจุบัน บริษัทผู้เช่าส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ออฟฟิศต่อจำนวนพนักงาน 1 คนลดลงจากเดิม”

“ในความเป็นจริงคือ บริษัทต่างๆ มีความจำเป็นในการใช้พื้นที่ออฟฟิศไม่เท่ากัน ดังนั้น แต่ละบริษัทจึงต้องกำหนดกลยุทธ์เฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของตน โดยบางบริษัทอาจยังต้องการใช้พื้นที่ขนาดเท่าเดิม ในขณะที่บางบริษัทอาจต้องการใช้พื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม”

ทั้งนี้ หลายบริษัทออกแบบพื้นที่ให้รองรับกิจกรรมการทำงานของพนักงานที่อาจต้องการใช้พื้นที่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงของวัน ทำให้สามารถลดหรือเลิกการให้พนักงานมีที่นั่งประจำ และเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงพื้นที่ประชุมหรือทำงานกลุ่ม พื้นที่สำหรับการสังสรรค์พูดคุย พื้นที่สำหรับการทำงานที่ต้องใช้ความเป็นส่วนตัวหรือสมาธิ (เช่น โฟนบูธ และห้องประชุม 2 ที่นั่ง) ห้องคุณแม่ หรือห้องพักงีบ/ทำสมาธิ เป็นต้น

ออฟฟิศรักษ์โลกและความร่วมมือกับเจ้าของอาคาร

มีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่มีการกำหนดเป้าหมายการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ ซึ่งอาคาร/สิ่งปลูกสร้างนับเป็นหนึ่งในแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น อาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นสำหรับบริษัทผู้เช่าในกลุ่มนี้

นายธนานันต์กล่าวว่า “มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากขึ้นที่ต้องการย้ายออฟฟิศไปยังอาคารใหม่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว เพื่อให้สามารถองค์กรของตนบรรลุเป้าหมายของด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมได้ง่ายยิ่งขึ้น”

“บริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญมากขึ้นกับการมีออฟฟิศอยู่ในในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวทั้งนี้ จากการติดต่อสอบถามที่เราได้รับในปีนี้ พบว่า 3-5 จากทุกๆ 10 บริษัทระบุว่า ต้องการพื้นที่ออฟฟิศในอาคารเขียว ต่างจาก 3 ปีก่อนหน้าที่มีเพียง 1-2 รายเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” นายธนานันต์กล่าว

บริษัทต่างๆ มองว่าการย้ายสำนักงานจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ตนสามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่จะเช่าใช้พื้นที่ในตึกไม่ต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้น สำหรับบริษัทที่ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ภายในปี ค.ศ. 2030 จะต้องเริ่มวางแผนการย้ายออฟฟิศไปยังอาคารเขียวแล้วในขณะนี้

เนื่องจากความร่วมมือและสนับสนุนจากเจ้าของอาคารจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้องค์กรของตนบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบการบริหารจัดการขยะ ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน และการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ผู้เช่าให้สำคัญกับคุณภาพอาคารมากขึ้น

บริษัทต่างๆ ที่ต้องการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศจำเป็นต้องพิจารณาการลงทุนทั้งในส่วนของการสร้างออฟฟิศและการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมจากพนักงาน ดังนั้น จึงเกิดแนวโน้มที่มีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่ต้องการมีออฟฟิศในอาคารที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนวิถีใหม่ในการทำงานของบริษัท ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สามารถรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ

เจเรมี่ โอซุลลิแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา เจแอลแอลกล่าวว่า “เมื่อกล่าวถึงคุณภาพ แน่นอนว่า อายุของอาคารมีผลค่อนข้างมาก งานวิจัยล่าสุดของเรา เผยให้เห็นว่า ณ สิ้นไตรมาสสองของปีนี้ อาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี มีอัตราพื้นที่ว่างเหลือเช่าเฉลี่ย 19% และมีค่าเช่าเฉลี่ย 816 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่กลุ่มอาคารที่มีอายุเกิน 20 ปีขึ้นไป มีอัตราพื้นที่ว่างเหลือเช่าเฉลี่ย 22% และมีค่าเช่า 653 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน”

นายธนานันต์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การที่มีบริษัทย้ายตึกค่อนข้างมากในช่วงนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงเห็นแนวโน้มที่ผู้เช่าต้องการอยู่ในอาคารที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม ทั้งนี้ ในบรรดาธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานที่เราเป็นตัวแทนในการดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า 35% เป็นการย้ายออกไปยังอาคารที่มีคุณภาพสูงขึ้น แนวโน้มนี้จะยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ จะมีอาคารสำนักงานสร้างเสร็จใหม่คิดเป็นพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 1.8 ล้านตารางเมตร รวมถึงพื้นที่สำนักงานในโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ดังเช่น วัน แบงค็อก และดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจสูงจากบริษัทผู้เช่าที่ต้องการพื้นที่สำนักงานเกรดพรีเมี่ยมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ และเกื้อหนุนวิถีใหม่ของการทำงานและเป้าหมายด้าน ESG ของบริษัทผู้เช่า”

สรุป

นายแกลนซีกล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีวิกฤติการณ์โควิดเป็นตัวเร่ง ได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ได้หันกลับมาทบทวนกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับออฟฟิศ-สถานที่ทำงานของตน เพื่อปรับให้สอดรับกับประเด็นเร่งด่วนต่างๆ ทางธุรกิจขององค์กร ออฟฟิศจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้องค์กรสามารถรักษาและดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ ควบคู่ไปกับการยังคงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะจูงใจให้พนักงานต้องการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ในขณะที่นโยบายการทำงานแบบไฮบริดที่พนักงานสามารถทำงานที่ออฟฟิศสลับกับสถานที่อื่น กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นหลังโควิด”

“ในส่วนของเจ้าของอาคาร การที่ผู้เช่าให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาคารมากขึ้น ประกอบกับการมีโครงการสำนักงานใหม่เตรียมสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก จะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นในด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะอาคารเกรดรองหรืออาคารเก่าที่เจ้าของอาคารจำเป็นจะต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในการรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหมายรวมถึงการยกระดับคุณภาพอาคารและการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทผู้เช่า”

ชมวิดีโอตัวอย่างออฟฟิศสำหรับวิถีใหม่ของการทำงาน


เกี่ยวกับ JLL

JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: JLL) เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ JLL มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของอสังหาริมทรัพย์เพื่อโลกที่ดีกว่า ด้วยการร่วมสรรสร้างโอกาสที่ดี อสังหาริมทรัพย์ที่เยี่ยมยอด และแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสำหรับลูกค้าและพนักงานของบริษัท ตลอดรวมจนถึงชุมชน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทชั้นนำที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์จูน (Fortune 500) ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศ มีพนักงานทั่วโลก (ณ วันที่ 31 มิถุนายน 2565) รวมกว่า 102,000 คน และมีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 19,400 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ JLL เป็นเครื่องหมายการค้าของ Jones Lang LaSalle Incorporated อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ jll.com