ข่าวสาร

บริษัทในหัวเมืองหลักๆ ของเอเชียยอมจ่ายค่าเช่าเพิ่มเพื่อมีออฟฟิศในอาคารเขียว

อาคารเขียวในกรุงเทพฯ เรียกค่าเช่าได้สูงกว่า 4-11%

ธันวาคม 13, 2565

รายงานการวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า บริษัทต่างๆ ใน 11 หัวเมืองหลักของเอเชีย ที่มีเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ ยอมจ่ายค่าเช่าแพงกว่า (ค่าพรีเมี่ยม) เพื่อให้ได้มีออฟฟิศอยู่ในอาคารที่ได้รับรองมาตรฐานอาคารเขียว โดยในบางเมืองมีค่าพรีเมี่ยมสูงถึง 28%

ตามบทวิเคราะห์ในรายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลแอลที่มีชื่อว่า The Value of Sustainability: Evidence for a Green Premium in Asia อาคารสำนักงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวในหัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจในหลายประเทศของเอเชีย มีปริมาณพื้นที่ไม่เพียงพอรองรับความต้องการของบริษัทผู้เช่า ซึ่งทำให้อาคารเขียวเหล่านี้เรียกค่าเช่าได้สูงกว่า เมื่อเทียบกับอาคารที่ไม่มีการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว ซึ่งส่วนต่างค่าเช่านี้เรียกว่า “ค่ากรีนพรีเมี่ยม”

การศึกษาของเจแอลแอลครั้งนี้ ได้เปรียบเทียบค่าเช่าระหว่างอาคารที่ได้และไม่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียว ซึ่งมีทำเลที่ตั้ง อายุ และสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน โดยพบว่า อาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียวจะเป็นที่ต้องการของกลุ่มบริษัทผู้เช่ามากกว่า

สำหรับภูมิภาคเอเชีย มาตรฐานอาคารเขียวเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา โดยราว 75% ปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว อยู่ในอาคารที่สร้างเสร็จหลังจากปี 2558 เป็นต้นมา สอดรับกับความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านความเห็นชอบในปี 2558

อย่างไรก็ดี พื้นที่สำนักงานในอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารเขียวในเอเชีย ยังคงมีไม่เพียงพอรองรับความต้องการของบริษัทผู้เช่า ที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะให้เกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ตสถานประกอบการของตน ได้รับการรับรองมาตรฐานการเป็นสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2568

ายเจเรมี่ โอซุลลิแวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการที่ปรึกษา เจแอลแอล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในกรณีของตลาดอาคารสำนักงานเกรดเอในกรุงเทพฯ พบว่า ราว 70% ของกิจกรรมการเช่าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นการเช่าพื้นที่ในอาคารที่มีมาตรฐานอาคารเขียว ในขณะเดียวกัน อาคารเขียวเกรดเอในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคิดเป็นเพียง 39% ของปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอที่มีทั้งหมด และที่สำคัญคือ อาคารเขียวเหล่านี้ ยังสามารถเรียกค่าเช่าได้สูงกว่าอาคารเกรดเอด้วยกันที่ไม่มีมาตรฐานอาคารเขียวรองรับ โดยมีส่วนต่างหรือค่ากรีนพรีเมี่ยมอยู่ในระหว่าง 4-11%”

รายงานของเจแอลแอล ระบุว่า 42% ของปริมาณพื้นที่สำนักงานเกรดเอทั้งหมดใน 14 หัวเมืองหลักของเอเชีย เป็นพื้นที่ในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว กรณีของฮ่องกง ปริมาณพื้นที่อาคารสำนักงานเกรดเอที่มีมาตรฐานอาคารเขียว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 29% ในขณะที่อาคารเกรดเอที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Platinum มีค่ากรีนพรีเมี่ยมสูงถึง 28% ซึ่งนับเป็นค่ากรีนพรีเมี่ยมที่สูงที่สุดในภูมิภาค ส่วนที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ พื้นที่อาคารสำนักงานเกรดเอที่มีมาตรฐานอาคารเขียว มีสัดส่วนคิดเป็น 37% และมีค่ากรีนพรีเมี่ยมอยู่ระหว่าง 7-22%

สิงคโปร์มีพื้นที่สำนักงานเกรดเอในอาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% และมีค่ากรีนพรีเมี่ยมอยู่ระหว่าง 4-9% ส่วนที่อินเดีย แม้หัวเมืองหลักๆ จะมีอาคารสำนักงานเกรดเอจำนวนมากที่ได้รับการมาตรฐานอาคารเขียว แต่พบว่า ยังมีค่ากรีนพรีเมี่ยมสูงด้วยเช่นกัน โดยสูงสุดอยู่ที่มุมไบ (20%)

นางสาวอมรรัตน์ เดชอุดมทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายบริการที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเจแอลแอล กล่าวว่า “มีเจ้าของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ จำนวนมากขึ้นที่สนใจการปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว เนื่องจากตระหนักถึงการแข่งขันที่กำลังสูงขึ้น จากการที่มีทั้งอุปสงค์และอุปทานที่เพิ่มขึ้นสำหรับอาคารเขียว ซึ่งการปรับปรุงอาคารเป็นกลยุทธ์ที่มีความเหมาะสมมากขึ้นในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุดสำหรับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนจากอาคารสิ่งปลูกสร้าง”

จากรายงานของเจแอลแอล บริษัท/องค์กรต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบทำความร้อน ระบบการไหลเวียนของอากาศ และระบบแอร์ (70%), ระบบแสงสว่างอัจฉริยะและปริมาณที่พอเพียง (66%) และการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (63%) โดยครึ่งหนึ่งมีแผนที่จะปรับปรุงสถานประกอบการของตนภายในปี 2568

วิธีการประมวลข้อมูล

เจแอลแอลเก็บข้อมูลจากอาคารเกรดเอรวม 3,089 อาคารใน 14 เมืองหลักของเอเชีย เพื่อประเมินดัชนีบ่งชี้ในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับอุปทานและค่าเช่าสำหรับอาคารที่มีและไม่มีการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว โดยมาตรฐานอาคารเขียวที่อยู่ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ครอบคลุม 10 มาตรฐาน ทั้งที่เป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั่วโลกและมาตรฐานของประเทศนั้นๆ ตัวแปรอื่นๆ ในชุดข้อมูลการศึกษาประกอบด้วย อายุของอาคาร ทำเลที่ตั้ง ปริมาณพื้นที่ของอาคาร ค่าเช่า อัตราการว่างของพื้นที่เหลือเช่า และปริมาณการเข้าใช้พื้นที่สุทธิในอาคาร ซึ่งจาก 14 เมือง เจแอลแอลได้จัดทำฐานข้อมูลจำเพาะสำหรับ 11 เมืองเพื่อเปรียบเทียบส่วนต่างค่าเช่า หรือค่าพรีเมี่ยมระหว่างอาคารที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกันในแง่ของทำเลที่ตั้ง อายุ และสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ต่างกันที่การมีหรือไม่มีการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว


เกี่ยวกับ JLL

JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: JLL) เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ JLL มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของอสังหาริมทรัพย์เพื่อโลกที่ดีกว่า ด้วยการร่วมสรรสร้างโอกาสที่ดี อสังหาริมทรัพย์ที่เยี่ยมยอด และแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสำหรับลูกค้าและพนักงานของบริษัท ตลอดรวมจนถึงชุมชน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทชั้นนำที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์จูน (Fortune 500) ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศ มีพนักงานทั่วโลก (ณ วันที่ 31 มิถุนายน 2565) รวมกว่า 102,000 คน และมีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 19,400 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ JLL เป็นเครื่องหมายการค้าของ Jones Lang LaSalle Incorporated อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ jll.com