มูลค่าการลงทุนซื้อขายอาคารทั่วเอเชียแปซิฟิกครึ่งปีแรกลดลงกว่า 30%
คาดครึ่งปีหลังกิจกรรมการซื้อขายจะปรับตัวดีขึ้น
ผลกระทบจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่มีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศในเอเชียแปซิฟิกปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของปริมาณการลงทุนซื้อขายอาคาร รวมถึงอัตราค่าเช่าของอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่อ่อนตัวลง ข้อมูลล่าสุดจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เผยให้เห็นว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การลงทุนซื้อขายอาคารที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจ (อาทิ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม) ทั่วเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าโดยรวมปรับตัวลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะในไตรมาสสองที่มูลค่าปรับลดลง 39% ซึ่งเป็นอัตราเร่งเมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งที่มูลค่าลดลง 26%
มูลค่าการลงทุนซื้อขายอาคารที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ที่ประเทศต่างๆ ประกาศใช้ รวมถึงมาตรการควบคุมการเดินทาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนระยะสั้นของนักลงทุน
ประเทศในเอเชียแปซิฟิกที่มีการลงทุนซื้อขายอาคารลดลงมากที่สุดในไตรมาสสองของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสสองของปีที่แล้ว คือ สิงคโปร์ ลดลง 68% และฮ่องกง 65% ส่วนตลาดใหญ่ที่มีการลงทุนลดลงไม่มากเท่าไตรมาสหนึ่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย ลดลง 58% เกาหลีใต้ 45% และจีน 15% เนื่องจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในประเทศเหล่านี้ในช่วงท้ายไตรมาสสอง
นายสจ๊วต โครว์ ซีอีโอภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กลุ่มธุรกิจบริการการลงทุน เจแอลแอล กล่าวว่า “กิจกรรมการลงทุนซื้อขายอาคารที่ปรับตัวลดลงมากในไตรมาสสอง ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีเจ้าของอาคารต้องการเสนอขายอาคารของตนในช่วงเวลานี้มากนัก ทั้งนี้ แม้แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่นักลงทุนยังมีเงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า ตลาดการลงทุนซื้อขายอาคารในเอเชียแปซิฟิกจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์มากขึ้น และผู้ซื้อผู้ขายอาจมีความคาดหวังที่สอดคล้องกันมากขึ้นในเรื่องของราคาเสนอซื้อเสนอขาย”
ตลาดอาคารสำนักงานในหัวเมืองใหญ่ของประเทศเอเชียแปซิฟิกยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้มากที่สุด ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์และดาต้าเซ็นเตอร์ ได้รับความสนใจสูงเช่นกัน ส่วนอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโรงแรมและศูนย์การค้าไม่มีความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนซื้อขายให้เห็นมากนักในช่วงครึ่งปีแรก
ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าเงียบเหงา
ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าในหัวเมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกโดยทั่วไปอยู่ในภาวะซบเซาในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และส่วนใหญ่มีค่าเช่าลดลง เมืองที่มีค่าเช่าสำนักงานลดลงมากที่สุดคือ ฮ่องกง ลดลง 9.3% เนื่องจากมีพื้นที่เหลือเช่าสูงขึ้นในขณะที่ความต้องการเช่าใช้พื้นที่สำนักงานลดลง ค่าเช่าที่ปักกิ่งลดลง 4.1% เมลเบอร์น 3.9% ซิดนีย์ 3.5% และสิงคโปร์ 3.3% มีเพียงบางเมืองเท่านั้นที่ค่าเช่ามีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ โอซากา และกรุงโซล ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1-2% ในไตรมาสสอง
นายเจรามี เชลดอน ผู้อำนวยฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าในหัวเมืองหลักของประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีสภาพคึกคักน้อยลงมากในไตรมาสสองของปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้บริษัทต่างๆ ชะลอการตัดสินใจขยายออฟฟิศ ในขณะที่มาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศยังทำให้บริษัทที่ต้องการเช่าสำนักงานไม่สะดวกออกสำรวจดูพื้นที่ในอาคารที่สนใจได้ในช่วงที่ผ่านมาได้ ทั้งนี้ แม้ตลาดอาคารสำนักงานในบางเมืองจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดี แต่โดยรวมแล้ว สถานการณ์ยังคงมีภาวะที่คาดเดาได้ยาก และต้องรอดูต่อไปว่ารูปการณ์จะออกมาเช่นไรในช่วงครึ่งปีหลัง”
ศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการล็อคดาวน์ รวมถึงมาตรการควบคุมการเดินทางของผู้คน และการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ความต้องการเช่าพื้นที่ร้านค้าลดลงในไตรมาสสอง รวมถึงค่าเช่าที่ลดลงด้วย โดยฮ่องกงเป็นเมืองที่มีค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าลดลงมากที่สุดในภูมิภาค คือ 13.3% หัวเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่มีค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าลดลงด้วยเช่นกัน โดยสิงคโปร์มีค่าเช่าลดลง 8.5%
อสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงาน และโลจิสติกส์ (ศูนย์จัดเก็บ-กระจายสินค้า โกดัง) เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในเอเชียแปซิฟิกที่มีผลประกอบการดีที่สุด โดยในไตรมาสสองที่ผ่านมา ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์กลุ่มนี้ที่เซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้น 1.2% และซิดนีย์ เพิ่มขึ้น 1.0% ส่วนหัวเมืองใหญ่อื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ ปักกิ่ง ซิดนีย์และเมลเบอร์นสามารถรักษาค่าเช่าไว้ได้ในระดับคงเดิม
ร็อดดี อลัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ เจแอลแอล กล่าวว่า “จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ดำเนินอยู่ ทำให้ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการที่หลายประเทศยังคงใช้มาตรการล็อคดาวน์ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความต้องการเช่าใช้ออฟฟิศจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านวิกฤติการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่า นักลงทุนจะเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวในช่วงครึ่งปีหลัง และจะคึกคักมาขึ้นในช่วงต้นปีหน้า”
เกี่ยวกับ JLL
JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และบริหารการลงทุน วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างจินตนาการใหม่ให้กับโลกแห่งอสังหาริมทรัพย์ สร้างโอกาสที่ดี และมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอสังหาริมทรัพย์อันน่าอัศจรรย์ให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถสานความใฝ่ฝันให้เป็นจริง ซึ่งตามวิสัยทัศน์ที่นี้ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า พนักงานและชุมชนของเรา JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทที่ที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีรายได้สูงสุดตามการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูน โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศและมีพนักงานทั่วโลกรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 91,000 คน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) JLL เป็นชื่อแบรนด์และเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจนส์ แลง ลาซาลล์ (Jones Lang LaSalle Incorporated) ต้องการข้อมูลเพิ่ม โปรดไปที่ jll.com