ข่าวสาร

การลงทุนซื้อขายอาคารในเอเชียแปซิฟิกปี 65 มูลค่าลดลง 27%

ดอกเบี้ยขาขึ้นประกอบกับภาวะซบเซาในตลาดตามหัวเมืองหลักๆ กระทบบรรยากาศการลงทุน

กุมภาพันธ์ 01, 2566

รายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนซื้อขายอาคารหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก ที่มีประโยชน์การใช้ในเชิงธุรกิจ (อาทิ อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า โรงงาน และโกดัง ไม่นับรวมการซื้อขายบ้าน/คอนโดโดยผู้ซื้อหรือนักลงทุนรายย่อย และที่ดินเปล่า) มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2564 ราว 27% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่เจแอลแอลเคยประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้า

เฉพาะไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว พบว่ามูลค่าการลงทุนซื้อขายปรับลดลงมากถึง 41% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564 แต่หากเทียบระหว่างไตรมาส 4 กับไตรมาส 3 ของปี 2565 จะพบว่า มูลค่าการซื้อขายปรับเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งสอดรับกับการประเมินสถานการณ์ของเจแอลแอลที่คาดว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายในปี 2566 นี้ จะปรับตัวลดลงไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา

นายสจ๊วต โครว์ ซีอีโอฝ่ายบริการด้านการลงทุน เจแอลแอลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิก แต่ในปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่า ราคาเสนอขายสำหรับสินทรัพย์ที่ตนสนใจจะเข้าลงทุนซื้อ เป็นราคาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ คาดว่า แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 นี้ ในขณะที่ช่องว่างของราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายคาดหวังจะค่อยๆ ปรับเข้าใกล้กันมากขึ้น”

“ส่วนปัจจัยบวกสำหรับปีนี้ ได้แก่ การที่จีนกลับมาเปิดประเทศ ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวดีขึ้น และการคาดการณ์ว่าเอเชียแปซิฟิกจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกถดถอยน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ตลาดการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี” นายโครว์กล่าว

การลงทุนซื้อขายอาคารในประเทศไทยในปี 2565 อยู่ในทิศทางเดียวกันกับของทั้งภูมิภาค โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 25,800 ล้านบาท ลดลง 20.3% จากปี 2564 อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนซื้อขายอาคารทุกประเภทชะลอตัว

อย่างไรก็ดี แม้การลงทุนซื้อขายอาคารโดยภาพรวมจะปรับตัวลดลงในปีที่ผ่าน แต่พบว่า การซื้อที่ (ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินเปล่าหรือที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างเก่าที่ต้องรื้อถอน) สำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ มีมูลค่าปรับเพิ่มขึ้น 80.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนักลงทุน มีการลงทุนระยะยาวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมากขึ้น ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์โลกในด้านต่างๆ ต่อไป แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากถึง 11.5 ล้านคนในปี 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนในปีนี้ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนปรับตัวดีขึ้นและกระตุ้นให้นักลงทุนมองการลงทุนในระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น

ในปี 2565 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้เป็นตลาดการลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด คือ 2.62 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ปรับลดลง 11% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนที่จีน กิจกรรมการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ทำให้มีมูลค่าการลงทุนซื้อขายรวม 2.48 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่โดยรวมยังต่ำกว่าปี 2564 ถึง 37% เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีการซื้อขายมากขึ้นในไตรมาสสุดท้าย แต่มูลค่าโดยรวมของทั้งปียังต่ำกว่าปี 2564 ถึง 40%

ออสเตรเลียมีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.09 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 38% จากปี 2564 เป็นผลมาจากการที่ราคาที่เสนอซื้อกับเสนอขายมีช่องว่างห่างกันมาก

สิงคโปร์เป็นตลาดการลงทุนซื้อขายที่มีมูลค่าปรับขึ้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวม 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อนหน้า

ส่วนฮ่องกงแม้จะได้รับความสนใจสูงขึ้นจากนักลงทุนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด แต่การลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพียง 7.7 พันล้านดอลลาร์ ปรับลดลงไป 24%

อาคารสำนักงานยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงในภูมิภาค โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 6.05 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ลดลงไป 18.7% จากปี 2564 โดยนักลงทุนพิจารณามากขึ้นในการเลือกว่าควรลงทุนในอาคารเกรดเอหรืออาคารเกรดรอง

อสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงานและโกดังสินค้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.59 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ลดลงไป 46% จากปีก่อนหน้า ส่วนอสังหาริมทรัพย์ในภาคค้าปลีกหรือศูนย์การค้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงไป 39%

โรงแรมเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีอัตราการลงทุนซื้อขายเพิ่มขึ้นสูงสุดในเอเชียแปซิฟิกในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีมูลค่ารวม 1.01 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7%

นางพาเมลา แอมเบลอร์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลสารสนเทศด้านการลงทุน ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของเจแอลแอลกล่าวว่า “แม้ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกในปีที่ผ่านมาโดยรวมจะปรับลดลง แต่สัญญาณการฟื้นตัวที่เริ่มปรากฏให้เห็นในไตรมาสสุดท้ายของปี นับเป็นนิมิตหมายที่ดี คาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจลงทุนในตลาดอาคารสำนักงานที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ศูนย์การค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ รวมไปจนถึงการหาโอกาสซื้อสินทรัพย์ดีที่มีศักยภาพในการขายต่อเพื่อทำกำไรในอนาคตในตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกในปีนี้”

คลิกที่นี่ เพื่อดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม


เกี่ยวกับ JLL

JLL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: JLL) เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจบริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ JLL มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของอสังหาริมทรัพย์เพื่อโลกที่ดีกว่า ด้วยการร่วมสรรสร้างโอกาสที่ดี อสังหาริมทรัพย์ที่เยี่ยมยอด และแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งสำหรับลูกค้าและพนักงานของบริษัท ตลอดรวมจนถึงชุมชน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด JLL เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทชั้นนำที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์จูน (Fortune 500) ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศ มีพนักงานทั่วโลก (ณ วันที่ 31 มิถุนายน 2565) รวมกว่า 102,000 คน และมีรายได้ทั่วโลกรวมทั้งสิ้นกว่า 19,400 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ JLL เป็นเครื่องหมายการค้าของ Jones Lang LaSalle Incorporated อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ jll.com